มะเร็งขึ้นสมอง

คงไม่มีใครไม่เคยปวดหัว เพราะอาการปวดหัวจัดเป็นอาการสาธารณะของสารพัดโรคทั้งโรคทางกายและโรคของจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เป็นกันบ่อยๆ เช่น เป็นหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหล และแน่นอนโรคยอดนิยมของคนยุคนี้คือโรคเครียดจากการทำงาน

เพราะฉะนั้นหลายคนเลยมีอาการปวดหัวบ่อยๆ บ่อยซะจนหลายคนชอบวิตกกังวลว่าตนเองเป็นเนื้องอกในสมอง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่เวลาปวดหัวขึ้นมาเมื่อไร ก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่าตนเองเป็น “มะเร็งขึ้นสมอง” หรือเปล่า

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าในบรรดาชนิดของเนื้องอกในสมองมากมาย 100 กว่าชนิดที่องค์การอนามัยโลกแบ่งประเภทไว้ หาได้เป็นมะเร็งทั้งหมดไม่ แบ่งเป็นชนิดต่างๆ ตามลักษณะของเซลล์ โตช้าหรือโตเร็ว ลักษณะขอบเขตของก้อน การแพร่กระจายช้าหรือเร็ว โดยรวมแล้วแบ่งความรุนแรงของเนื้องอกในสมองได้เป็น 4 ระดับตั้งแต่ระดับที่ 1 ที่มีความรุนแรงน้อยๆ เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ก้อนเนื้องอกเติบโตช้าและมักจะสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ จนถึงระดับที่ 4 เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงมาก เนื้องอกโตเร็วและทำให้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่ระดับที่ 2 และ 3 อยู่กลางๆ และแต่ละชนิดมีอาการ อาการแสดงและการรักษาที่แตกต่างกันไป

อาการของผู้ป่วยเนื้องอกในสมองมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งของเนื้องอกอยู่ที่สมองส่วนใด แต่อาการยอดฮิตอย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นหนีไม่พ้นอาการปวดศีรษะ แต่ต้องย้ำตรงนี้ว่าอาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ที่เราๆ ท่านๆ ประสบอยู่ส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ซะมากกว่า อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยเนื้องอกในสมองมักเป็นอาการปวดที่รุนแรงและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ขนาดของเนื้องอกโตขึ้นเรื่อยๆ ภายในสมองที่มีเนื้อที่จำกัด อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่มักเป็นในช่วงตื่นนอนตอนเช้าหรือช่วงนอนหลับตอนกลางคืน อาจมีอาการอาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน นอกนั้นอาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง เดินเซ พูดลำบาก เห็นภาพซ้อน ตามัว ตาเหล่ หูได้ยินเสียงน้อยลง เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนเนื้องอกเป็นหลัก

ส่วนมะเร็งจากอวัยวะอื่นที่มักแพร่กระจายมาที่สมองโดยมาทางกระแสเลือดที่พบบ่อยก็ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก โดยส่วนใหญ่มักพบว่ามาโผล่ที่สมองมากมายหลายตำแหน่งโดยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งชนิดนั้นๆ มาก่อน น้อยรายที่จะมีมะเร็งจากที่อื่นแพร่กระจายมาที่สมองเลยโดยไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นมะเร็งที่ไหนมาก่อน การรักษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการฉายแสงคลุมสมองส่วนที่มีก้อนเนื้องอกอยู่ เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองเพราะมะเร็งตัวแม่มักจะลุกลามและกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากสมอง ส่วนใหญ่เมื่อถึงขั้นขึ้นสมองแล้วมักจะเอาไม่ค่อยอยู่แล้วนะครับ…ขอบอก

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33392

น้ำตาล หวานมากไป โรคภัยถามหา

เมื่อเอ่ยถึงน้ำตาล คงไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยลิ้มลองรสชาติของมัน หลายปีมานี้มีการรณรงค์ให้คนไทย “อ่อนหวาน” นั่นคือให้ลดการบริโภคน้ำตาลลง เพื่อให้พวกเราตระหนักถึงผลร้ายของการกินหวานที่มากเกินไป 

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวัน สำหรับคนไทยกรมอนามัยกำหนดไว้ว่า ควรทาน วันละไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ซึ่งเท่ากับร้อยละ 5 โดยคิดจากความต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน แต่ทราบไหมว่าแค่ดื่มน้ำอัดลมกระป๋องเดียวเราก็ได้น้ำตาลเกือบ 6 ช้อนชาแล้ว

น้ำตาลแอบแฝงอยู่ในอาหารที่เราทานโดยที่เราไม่คาดคิด นอกเหนือจากขนมหวาน เบเกอรี่ ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มต่างๆ แล้ว ยังมีการเติมน้ำตาลลงในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปอีกนับไม่ถ้วน อาทิ ซีเรียล ธัญพืชแปรรูป ครีมเทียม ผักกระป๋อง น้ำสลัด ซอสต่างๆ ซุปก้อน เนย ถั่วลิสง เป็นต้น เนื่องจากน้ำตาลทำหน้าที่เป็นทั้งสารกันเสียและสารดูดซับความชื้นในผลิตภัณฑ์ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ได้ทานน้ำตาลมากเกินกว่าที่สุขภาพเราจะรับได้ ผู้บริโภคควรอ่านฉลากโภชนาการหรือส่วนผสม (ingredients) ก่อนซื้อหรือก่อนรับประทานทุกครั้ง

แม้ว่าน้ำตาลกลูโคสจะเป็นแหล่งพลังงานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับร่างกายและสมอง แต่หากได้รับเกินความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกลูโคสหรือน้ำตาลชนิดอื่นก็เกิดโทษต่อสุขภาพทั้งนั้น ลองมาดูกันซิว่าน้ำตาลจะร้ายกาจขนาดไหนน้ำตาล… ตัวการความอ้วน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการทานน้ำตาลมากๆ เป็นประจำ เป็นสาเหตุสำคัญของความอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูง นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกมากมายเป็นของแถม เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี ข้ออักเสบ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ น้ำตาลยังกระตุ้นความอยากอาหารทำให้เราทานมากขึ้นไปอีก โดยไปขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเลปติน (ตัวที่เป็นสัญญาณบอกสมองว่า “อิ่มแล้ว” ส่งผลให้ฮอร์โมนความหิวหรือ “เกรลิน” ซึ่งหลั่งมาจากกระเพาะอาหารและตับอ่อน ยังคงทำงานบอกสมองว่า “หิว” อยู่เรื่อยไป ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมบางคนถึงลดน้ำหนักไม่ได้ผล สาเหตุหนึ่งมาจากการจำกัดแคลอรีของอาหารที่ทานต่อวันโดยไม่ได้ลดปริมาณน้ำตาลไปด้วยนั่นเองน้ำตาล

ตัวการซึมเศร้า

มีการวิจัยพบว่า คนที่ทานหวานจนชินจะเกิดสภาวะการพึ่งพาน้ำตาล (sugar dependency) หรืออาจเรียกว่าเป็นการ “ติดหวาน” โดยสมองจะมีการตอบสนองต่อน้ำตาลด้วยการหลั่งสาร opioids ออกมาทำให้เกิดความพึงพอใจและความอยากกินหวาน ทำให้ต้องบริโภคน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ครั้งจะเลิกหรือลดการกินหวานลงก็จะเกิดความโหยขึ้น คนกลุ่มนี้ เมื่อมีน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำก็จะเกิดอาการซึมเศร้า หดหู่ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา ขาดสมาธิ หรืออาจเกิดอารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับได้

นอกจากนี้เคยมีรายงานว่า การบริโภคน้ำตาลทรายมากทำให้กรดอะมิโน “ทริปโตแฟน (Tryptophan)” ถูกเร่งให้ผ่านเข้าสู่สมองมากเกินไป และเนื่องจากทริปโตแฟนเกี่ยวข้องกับการสร้างสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อทริปโตแฟนมีมากเกินไป ทำให้สารเคมีในสมองขาดความสมดุล ผลที่ตามมาก็คือเกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง น้ำตาล… ตัวการลดภูมิ (คุ้มกัน)

จากผลการศึกษาของ ดร.แกรี่ นัล ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ “The Complete Guide to Sensible Eating” ระบุว่า ความหวานทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยน้ำตาลจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำลายสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง นำมาซึ่งอาการแพ้สิ่งต่างๆ และติดเชื้อง่าย ที่แย่ไปกว่านั้น น้ำตาลยังทำให้อาการของโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเชื้อโรคทุกชนิดใช้น้ำตาลเป็นอาหาร

ในกรณีนี้หากเป็นในเด็ก เด็กที่ทานของหวานมากเกินไป นอกจากจะมีปัญหาเรื่องฟันผุแล้วยังมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยง่ายและเจริญเติบโตช้าอีกด้วยน้ำตาล

ตัวการความแก่ (ชรา)

เห็นหัวข้อนี้แล้วทุกคนคงจะตาโตขึ้นมาทันที คงไม่มีใครอยากแก่เป็นแน่ แต่ความแก่ในที่นี้มิใช่เพียงรูปพรรณที่เราเห็นภายนอก อย่างริ้วรอยหรือผิวที่หย่อนคล้อยเท่านั้น ยังหมายรวมถึงความเสื่อมที่มองไม่เห็นของระบบภายในร่างกายด้วย

เนื่องจากน้ำตาลที่ทานเข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้ตับอ่อนต้องหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยหนทางแรก คือการ เผาผลาญน้ำตาลไปเป็นพลังงาน เมื่อเกิดการเผาผลาญบ่อยเข้า ย่อมเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ สาเหตุแห่งความเสื่อมของเซลล์และหลอดเลือดฝอย รวมทั้งเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งและอัลไซเมอร์ด้วย

หนทางต่อมา น้ำตาลส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเก็บสะสมในรูปของไกลโคเจนสำหรับเป็นพลังงานสำรอง ซึ่งตับสามารถเก็บไกลโคเจนได้เพียง 90-100 กรัมเท่านั้น แต่หากยังใช้ไม่หมด น้ำตาลส่วนเกินนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมันแล้วลำเลียงไปเก็บสะสมในเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะตามส่วนของร่างกายที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว เช่น หน้าท้อง สะโพก ก้น ต้นขา หากเรายังคงรับประทานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง กรดไขมันที่ว่านี้จะถูกสะสมไว้ที่อวัยวะภายในอื่นๆ เช่น หัวใจ ตับ และไต อวัยวะเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกห่อหุ้มด้วยไขมันและเยื่อเมือกจนทำงานผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น โรคไขมันเกาะตับ ที่คุ้นหูกันดี

ทานน้ำตาลอย่างไร… ให้อายุยืน

1. พยายามเลี่ยงของหวานและค่อยๆ ลดปริมาณน้ำตาลลง ทานแต่พอประมาณ เพราะปกติเราได้รับน้ำตาลที่แฝงมากับอาหารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ขนม ไอศกรีม เครื่องดื่ม น้ำจิ้มหรือเครื่องจิ้มต่างๆ ที่ทานกับผลไม้ เราไม่ต้องกลัวว่าจะขาดน้ำตาล เพราะเมื่อร่างกายย่อยแป้ง (พวกข้าว ขนมปัง ฯลฯ) ก็จะได้กลูโคสมาใช้เป็นแหล่งพลังงานเหมือนกัน

2. รับประทานผักสดและผลไม้สดที่หวานน้อยแทนน้ำผักหรือน้ำผลไม้ บรรจุขาย ซึ่งนอกจากจะได้รสหวานจากธรรมชาติแล้ว เรายังได้วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงเส้นใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย และชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ตับอ่อนไม่ต้องทำงานหนักในการหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด

3. อ่านฉลากสักนิดก่อนคิดจะซื้ออาหารชนิดใดซึ่งจะบอกถึงปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในส่วนผสม เช่น ซูโครส ฟรุกโทส กลูโคสไซรัป คอร์นไซรัป มอลโทส น้ำผึ้ง เป็นต้น จะได้ระวังไม่ทานเพลินจนน้ำตาลเกินกำหนด

4. เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเพื่อเป็นแหล่งของน้ำตาลกลูโคส เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วต่างๆ เผือก มัน ฟักทอง กล้วย ขนมปังโฮลวีต ซึ่งร่างกายจะได้รับสารอาหารที่หลากหลายกว่าข้าวขัดขาวและธัญพืชที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปแล้ว แถมยังมีเส้นใยอาหารช่วยให้อยู่ท้อง ช่วยลดคอเลสเตอรอล และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเหล่านี้จัดเป็นอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index: GI) ต่ำ (คืออาหารที่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว) เช่นเดียวกับผักและผลไม้ที่หวานน้อย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราทุกคนคงไม่ต้องตัดความหวานออกจากชีวิตเสียทีเดียว เพราะทานน้ำตาลแบบพอดีก็ไม่เป็นไร แต่หากทานมากไป โรคภัยจะถามหา ฝึกเป็นคนอ่อนหวานเสียแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้ากันเถอะ

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33408

ปวดคอ…รับมืออย่างไรดี

อาการปวดคอมีสาเหตุหลายประการ ที่พบบ่อยก็คือ การมีอิริยาบถหรือท่าทางที่ผิดสุขลักษณะในกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะการเอี้ยวคอผิดท่า ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียดของจิตใจ ภาวะข้อเสื่อมหรืออักเสบ หมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท รวมถึงการบาดเจ็บของคอจากอุบัติเหตุต่างๆ

ผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดคอจะมีอาการดังนี้ ปวดเมื่อยต้นคอเอี้ยวคอไม่ได้ บางรายมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน หรือชาที่มือ นอกจากนั้นอาจมีอาการมึนงง คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ตาลายร่วมด้วย ซึ่งอาการจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุ ในรายที่รุนแรง เช่น มีอาการปวดร้าวลงไปที่แขนหรือแขนชาและอ่อนกำลัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเกี่ยวข้องกับเส้นประสาท หากมัวแต่ประวิงเวลาออกไป อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้

แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอหรือคอแข็ง มักจะเป็นอย่างเฉียบพลันจากการเอี้ยวคอผิดท่า หรือหลังตื่นนอน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ผุ้ป่วยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้ ควรนอนรบเพื่อพักสักครู่ และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวคอ ร่วมกับการประคบด้วยน้ำแข็งนานประมาณ 20-30 นาที ถ้าอาการไม่ทุเลาให้รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 12 เม็ด แต่ถ้าทำแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

การรักษาที่ให้ผลดีอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อช่วยลดอกาการปวดและอาการอักเสบ นอกจากนั้น การบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อยึดหยุ่นได้ดี และทนทานขึ้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพของอาการที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามเพื่อให้อาการทุเลาลงโดยเร็ว

ส่วนการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ รวมถึงในบุคคลทั่วไป มีดังนี้ ขณะทำงานควรระมัดระวังอิริยาบถ โดยอย่าก้มหรือเงยบ่อยเกินไป, หาเวลาพักและเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ ชั่วโมง, เลือกเก้าอี้นั่งทำงานที่มีพนักแข็งแรง และมีที่หนุนคอพอดี, ควรนอนบนที่นอนแข็ง รองศีรษะด้วยหมอนนิ่มและไม่สูงมาก, อย่านอนคว่ำหนุนหมอนสูงๆ เพื่ออ่านหนังสือ หรือดูโทรทัศน์, พยายามขจัดความเครียดในชีวิตประจำวัน และหมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อคอทุกวัน

สำหรับอาการปวดคอจากกระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกตามอายุโดยหมอนรองกระดูกเสื่อมและบางตัวลง ทำให้ช่องว่างระหว่างหมอนรองกระดูกแคบลง จนในที่สุดอาจเกิดการกดทับรากประสาทและไขสันหลังตามมาได้

นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอมาก่อน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสภาพของกระดูกเกิดขึ้น แต่กรณีนี้พบได้น้อยกว่าการเสื่อมตามอายุครับ

อาการระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณด้านหลังคอ รู้สึกคอแข็งและเสียเวลาเคลื่อนไหว อาการจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับว่าเคลื่อนไหวคอมากหรือน้อยเพียงใด บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย เมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดร้าวและเสียวชาลงมาที่แขนและมือ มือมีลักษณะชาหรือรู้สึกเหมือนถูกแข็มแทง ซึ่งมักจะเป้นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่รักษา อาจมีอาการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแขนและมือและถ้าหากมีการกดทับของไขสันหลังร่วมด้วย ก็อาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วยครับ

ในการรักษาต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การเสื่อสภาพของกระดูกคอนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาก็เพียงเพื่อลดอาการปวดจากการอักเสบ และอาการบวมของเนื้อเยื่ออ่อนๆ บริเวณกระดูก

อย่างไรก็ตาม ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการไม่มาก แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใส่ปลอกคอเพื่อพยุงคอ ร่วมกับให้ยาแก้ปวด บางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้น้ำหนักดึงคอ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวด ส่วนในรายที่เป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการกดไขสันหลัง อาจต้องผ่าตัดเพื่อขจัดการกดทับและป้องกันมิให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น ซึ่งผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายของการรักษาครับ

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33411

 

ภัยร้ายซุกซ่อนใต้ไฝดำ

จุดดำเม็ดเล็กๆ บนผิวหนัง ที่เรียกกันว่าไฝหรือขี้แมลงวันนั้น อาจซ่อนโรคร้ายไว้ข้างใต้ หากไม่สังเกตและรักษาให้ทันท่วงที

โรคร้ายภายใต้ผิวก็คือ มะเร็งผิวหนัง ที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยชนิดของมะเร็งผิวหนังที่มีความรุนแรงมากที่สุด และสามารถกระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ได้รวดเร็วคือ มะเร็งของเซลล์เม็ดสี ที่เรียกว่า แมลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant Melanoma) หรือชนิดไฝดำ

ผศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ไฝร้ายมักจะไม่ปรากฎรอยออกมาด้านนอก แต่จะเป็นการทำลายเซลล์ผิวลึกลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังทั้งไฝและขี้แมลงวัน

“มะเร็งผิวหนังเป็นโรคมะเร็งที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับมะเร็งชนิดอื่นๆ และมีการพัฒนาแนวทางการรักษาช้าที่สุด” แพทย์กล่าว

ไฝปกติทั่วไปจะกลม ขอบเรียบ ขณะที่อาการบ่งชี้มะเร็งไฝดำที่ควรจะสังเกตคือ ลักษณะไฝไม่เป็นทรง ขอบไฝไม่ชัดเจน ขรุขระ ไม่เรียบ สีของไฝไม่สม่ำเสมอ มีทั้งสีดำ สีน้ำตาลหลายเฉดในคราวเดียว ขนาดจะใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร และไฝนั้นมีการแตกตัว

คุณหมอเตือนว่า หากพบความผิดปกติเหล่านี้แม้เพียง 1 อาการ ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์และรักษาให้หายขาดได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังคือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน หรือมีผิวขาว อายุ 50 ปีขึ้นไป

ลักษณะมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนั้นจะกินลึกในชั้นผิวหนังมากกว่าโตเป็นก้อนออกมา ยิ่งเป็นมากก็จะยิ่งกินลึกลงไปในผิวหนังมาก จนอาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ อย่างไรก็ตาม แม้มะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำจะพบมากบริเวณที่ถูกแสงแดดบ่อยๆ แต่ก็สามารถเกิดได้ในจุดซ่อนเร้น อาทิ ฝ่าเท้า หรือไหล่

ปัจจุบันอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำ หรือเมลาโนมาทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนคนต่อปี ซึ่ง 80% เป็นชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนี้ประมาณ 340 คนต่อปี

“ที่ผ่านมาแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง เริ่มจากหากเป็นในระยะเริ่มแรกก็จะใช้วิธีการผ่าตัดออกให้หมด ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดสูงถึง 70-80% แต่หากผู้ป่วยเป็นในระยะลุกลามแล้วจะมีการใช้รังสีรักษา หรือเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร” ผศ.นพ.วิโรจน์เผย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการรักษาในอนาคตจะเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นคือ การตรวจคัดเลือกผู้ป่วยและใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งยาที่ได้รับจะสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งได้อย่างเจาะจง ช่วยยืดอายุผู้ป่วยให้ยาวนานยิ่งขึ้น

คุณหมอแนะนำวิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอาบแดด หรือใช้เครื่องอบผิวให้เป็นสีแทน และหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน หากมีแผลเรื้อรังหรือแผลที่ไม่หายใน 2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์

ยีนกลายพันธุ์ก่อมะเร็ง

ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำหรือเมลาโนมาในระยะลุกลาม ตามแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคลนั้น จะต้องตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ในก้อนมะเร็ง

ยีน BRAF มีหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ เจริญเติบโต เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับยีนนี้ ผลที่ตามมาก็คือเซลล์มีการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติ และนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ในที่สุด ทั้งนี้ จากรายงานการวิจัยพบว่า มากกว่า 50% ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำมีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ซึ่งจะเกิดที่ตำแหน่ง V600 ของยีน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF เท่านั้นที่จะมีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจง ในการหยุดยั้งการทำงานที่ผิดปกติของยีน BRAF

สำหรับการตรวจหาการกลายพันธุ์นี้ แพทย์จะใช้เทคโนโลยี PCR ที่มีความไวในการตรวจพบที่สูง และให้ผลการตรวจในเวลาที่รวดเร็ว ช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วย เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33433

ถนอมดวงตาอย่างไร ให้ใช้ได้ยาวนาน

ทุกคนย่อมอยากมีสายตาที่มองเห็นแจ่มชัดไปจนตลอดอายุขัย แต่ด้วยความเสื่อมของร่างกายที่มาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง สายตาเริ่มขุ่นมัวไปตามอายุ การดูแลสุขภาพตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ดวงตามีสุขภาพแข็งแรงและใช้งานได้อย่างปกตินานที่สุด ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพดวงตาเริ่มตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยสูงอายุ ดังนี้

วัยเด็ก

- สำหรับเด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย และต้องอยู่ในตู้อบให้ออกซิเจน จำเป็นต้องได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อประเมินโรคเส้นเลือดเติบโตผิดปกติที่จอประสาทตา (Retinopathy of prematurity : ROP) ซึ่งหากเกิดขึ้น ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยเลเซอร์หรือการผ่าตัด ไม่เช่นนั้น อาจมีภาวะแทรกซ้อนจนถึงตาบอดได้

- เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ถ้าหากยังไม่มองหน้าแม่ หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คล้ายมองไม่เห็น ต้องได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์

- เด็กในวัยเข้าเรียน ที่ดูหนังสือหรือโทรทัศน์ใกล้มากผิดปกติ เอียงคอมอง หยีตามอง กระพริบตาบ่อย อาจมีปัญหาทางสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสาเหตุอื่น สมควรได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์

วัยทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ

- ควรพักสายตาโดยมองไกลประมาณ 5 – 10 นาที ต่อการทำงานคอมพิวเตอร์ 1 ชั่วโมง เพื่อลดการเพ่งของสายตาจะช่วยคลายการปวดเมื่อยล้าตาและอาการตาแห้งได้

- ด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ไม่ควรมีแสงสว่างมาก เพราะจะรบกวนการมองจอคอมพิวเตอร์ เช่น ไม่ควรวางจอคอมพิวเตอร์ของเราหันหลังให้กับหน้าต่าง

- ศีรษะของเราควรอยู่สูงกว่าจอคอมพิวเตอร์เล็กน้อย จะได้ไม่ต้องเงยหน้ามองจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เมื่อยล้าได้ง่าย หรืออย่างน้อยไม่ควรอยู่ต่ำกว่าจอแสดงผล

- ถ้ามีอาการตาแห้ง เช่น แสบเคืองตา ให้กระพริบตาบ่อยขึ้นเพื่อกวาดน้ำตามาเคลือบผิวตา หรือพักการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะ ๆ ถ้ายังมีอาการมาก การใช้น้ำตาเทียมหยอดตาจะช่วยบรรเทาอาการได้

- ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา อาจทำให้ปวดเมื่อยล้าตาง่าย เช่น คนสายตาเอียง หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีปัญหาเวลามองใกล้ การใส่แว่นตาที่เหมาะสมจะช่วยแก้ปัญหาได้

วัยผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป

- ควรตรวจวัดความดันลูกตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาต้อหิน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน เพราะบางคนอาจเป็นต้อหินโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาเป็นเวลานานจะทำให้สายตาเสื่อมลงหรือบอดได้ และภาวะตาบอดจากต้อหินนั้นไม่สามารถรักษาให้สายตากลับมามองเห็นได้

- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ควรตรวจจอประสาทตาเพื่อดูว่ามีเบาหวานขึ้นตาหรือไม่ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ที่สำคัญคือควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาได้ดี

- ต้อกระจก พบได้ตั้งแต่อายุ 50 – 60 ปีขึ้นไป รักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ทำให้การมองเห็นกลับมาใกล้เคียงหรือเหมือนปกติได้

- โรคจุดรับภาพเสื่อม ปัจจุบันมีการรักษาใหม่ๆ เช่น การฉีดยาชะลอการเกิดใหม่ของเส้นเลือด การตรวจพบโดยจักษุแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกของโรคจะช่วยรักษาการมองเห็นไว้ได้ดีกว่าเดิมมาก

ข้อควรปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพตาให้ดี

- หมั่นตรวจตาเป็นประจำโดยจักษุแพทย์ ในเด็กควรพบจักษุแพทย์อย่างน้อยในช่วง 3 – 5 ปีก่อนเข้าโรงเรียน และรับการตรวจเป็นประจำเมื่อมีปัญหาเรื่องสายตา ผู้สูงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง ส่วนในผู้ที่มีความเสี่ยงเฉพาะโรคตา เช่น โรคเบาหวาน หรือมีประวัติโรคตาในครอบครัว เช่น ต้อหิน จำเป็นต้องได้รับการตรวจตาบ่อยขึ้นตามแพทย์นัด

- สวมแว่นกันแดดเป็นประจำเมื่อออกแดด หรือต้องใช้สายตาในที่มีแสงมาก เพื่อป้องกันโรคต้อเนื้อ ต้อกระจก จอรับภาพเสื่อม

- สวมแว่นป้องกันการกระแทกที่ได้มาตรฐาน สำหรับผู้ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไม้ ผู้เล่นกีฬา

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33434

อีก 2 เดือน เตรียมตัวป้องกันยุงลายระบาด!

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใกล้ตัวที่น่ากลัวกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นคือ การระบาดของไข้เลือดออก ที่ปีนี้ (พ.ศ.2556) คณะผู้เชี่ยวชาญและสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ประเมินว่า การลุกลามของโรคจะรุนแรงกว่าปี พ.ศ.2555 คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 120,000-150,000 ราย และเสียชีวิตถึง 120-200 ราย เนื่องจากมีรายงานจำนวนผู้ป่วยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึง 9,824 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 800-1,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 12 ราย

ปัญหาหลักในการระบาดหนักคือ จำนวนยุงลายที่เพิ่มขึ้น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวพร้อมแนะว่า ต้องเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายในอาคารบ้านเรือนและโรงเรียนทั่วประเทศก่อนถึงฤดูฝน คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขกำจัดได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายจากแหล่งน้ำขังทุก 7 วัน

สำหรับยุงลายที่เป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ยุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) และยุงลายสวน (Aedes Albopictus) ซึ่งแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายทั้งสองชนิดแตกต่างกัน ลูกน้ำยุงลายบ้าน จะอยู่ในภาชนะขังน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น โอ่ง, บ่อซีเมนต์, ถ้วยหล่อขาตู้กับข้าว, แจกัน, จานรองกระถางต้นไม้, ยางรถยนต์ และเศษวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำขัง โดยยุงเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน ขณะที่ยุงลายสวนมักเพาะพันธุ์อยู่ในแหล่งธรรมชาติ เช่น โพรงหิน, โพรงไม้, กระบอกไม้ไผ่, กาบใบพืชจำพวกกล้วย, ยางรถยนต์เก่า และรางน้ำฝนที่อุดตัน เป็นต้น ซึ่งยุงลายทั้ง 2 ชนิด ล้วนเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น

ก่อนกำจัดมารู้จักวงจรชีวิตของยุงลาย เพื่อการกำจัดอย่างถึงรากถึงโคน วงจรชีวิตของยุงลายมี 4 ระยะ คือ หลังจากกินเลือดแล้ว 4-5 วัน ก็จะวางไข่ ซึ่ง ไข่ เมื่อวางออกมาใหม่ๆ จะมีสีขาวนวล ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำสนิทภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนจะกลายเป็น ลูกน้ำ ระยะนี้ใช้เวลาฟักตัว 4-5 วัน จึงกลายเป็น ตัวโม่ง และ1-2 วันหลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วง ตัวเต็มวัย

ฉะนั้น การกำจัดยุงลายให้สิ้นซาก ควรจัดการตั้งแต่ระยะลูกน้ำ เริ่มต้นจาก ปิดปากภาชนะเก็บน้ำ ด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อน อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเข้าไปวางไข่ได้ ต่อมาให้ หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน กรณีนี้เหมาะสำหรับภาชนะเล็กๆ เช่น แจกันดอกไม้ แจกันหิ้งบูชาพระ และแจกันประดับเป็นต้น หากบ้านไหนปลูกต้นไม้ในกระถางและเป็นกระถางขนาดใหญ่ให้ ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ลึกประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกของจานกระถางต้นไม้นั้น เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้ หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือน ทุกซอกทุกมุมให้สะอาด ปราศจากความอับชื้น ที่สำคัญ ทำลายเศษวัสดุที่ไม่ใช้และโละทิ้งของที่คิดว่าเผื่อจะใช้ในอนาคต อันเป็นแหล่งพักผ่อนของยุงลายด้วย

สำหรับคุณแม่บ้านที่ต้องการป้องกันแต่เนิ่นๆ หวังผลให้ฤทธิ์ควบคุมยาว 3 เดือนโดยประมาณ แนะนำให้ใช้ ทรายอะเบท เพราะทรายชนิดนี้เป็นทรายเคลือบสารเคมีในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต ใช้ใส่น้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ในอัตราส่วน ทรายอะเบท 1 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร ซึ่งทรายอะเบทจะใช้ได้ผลดีกับแหล่งน้ำนิ่งที่ค่อนข้างสะอาด แต่ทรายอะเบทมีราคาค่อนข้างแพงและหาซื้อยาก จึงควรใช้ในกรณีที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายพันธุ์ของยุงลายแล้วและไข้เลือดออกระบาดหนักแล้ว การใช้ทรายอะเบทจะไม่ทันการ เพราะทรายอะเบทเป็นเคมีที่ใช้ฆ่าลูกน้ำ แต่ไม่ได้ฆ่าตัวยุงเต็มวัย

อีกวิธีเป็นของหาง่ายภายในบ้าน ได้แก่ เกลือแกง, น้ำส้มสายชู และ ผงซักฟอก เอาไปใส่ที่จานรองขาตู้กับข้าว เท่านี้ก็ป้องกันการวางไข่ได้แล้ว ยิ่งบ้านไหนเลี้ยงปลากินลูกน้ำ อาทิ ปลาหางนกยูง, ปลาสอด, ปลากัด ด้วยจะดีมาก

หากป้องกันแล้ว แต่ยังพลาดโดนยุงกัด ลองสังเกตเบื้องต้นตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ (http://visitdrsant.blogspot.com) ว่าใช่ไข้เลือดออกหรือไม่ ในข้อมูลระบุว่า ไข้เลือดออกหรือ Dengue Hemorrhagic Fever (DHF) เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี เป็น โรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยมีพาหะคือยุงลาย เมื่อเชื้อเข้ามาสู่ตัวคนแล้วจะมีระยะฟักตัว 3-14 วัน จากนั้นจึงเข้าระยะเป็น ไข้สูงอยู่นาน 2-7 วันจากปฏิกิริยาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายพยายามกำจัดเชื้อ อาจชักเพราะไข้สูง อาจมีจุดเลือดออกตามตัว มีตับโตเนื่องจากเกิดการอักเสบที่ตับแล้ว

เมื่อไข้เริ่มจะลงก็เข้าสู่ระยะช็อก จากการที่ผนังหลอดเลือดที่เกิดการอักเสบจนปล่อยให้สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด ทำให้เลือดข้นขึ้นแต่ปริมาตรเลือดลดลงจนไม่พอไหลเวียน ผู้ป่วยจะมีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ไม่ถ่ายปัสสาวะ ชีพจรเบาและเร็ว มีเลือดออกง่าย เพราะเกร็ดเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ถ้าโรคเป็นมากก็ช็อกจนเสียชีวิตได้ ระยะนี้จะนาน 1-2 วัน เมื่อผ่านไปได้ก็จะเข้าระยะพักฟื้น คือค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ โรคนี้มีอัตราตายต่ำกว่า 1% แต่ถ้ามีอาการช็อกจะมีอัตราตายสูงถึง 12-44% การวินิจฉัยโรคนี้ต้องเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้เลือดออก หรือตรวจหาตัวเชื้อ (antigen) ไข้เลือดออกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจ หากไข้ไม่ลด 2-3 วัน แนะนำพบแพทย์

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33456

รอยสักสวยแต่เสี่ยงติดหลายโรค

ตอนนี้การสักเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าว่าแต่ในประเทศไทย แม้ในต่างประเทศก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกา พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ระบุว่า วัยรุ่นอเมริกันอายุระหว่าง 18-25 ปี มากกว่า 1 ใน 3 มีรอยสักติดตัวอย่างน้อย 1 จุด

ที่น่าสนใจก็คือ แม้การสักจะเป็นที่นิยมมากขนาดนั้น ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้ามาดูแลในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องของหมึก สำหรับใช้ในการสัก เรื่อยไปจนถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวผู้ทำหน้าที่สักและสถานที่ที่จะใช้สักกันเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือในสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์บางคนวิตกไม่น้อย

ดร.มิชิ ชิโนฮารา ศาสตราจารย์ด้านวิชาการโรคผิวหนัง หรือ ตัจวิทยา (เดอร์มาโทโลยี) จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ในซีแอตเติล เผยแพร่ความกังวลในเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการในเอกสารเผยแพร่ของทางสถาบันวิชาการโรคผิวหนังอเมริกัน (อเมริกัน อคาเดมี ออฟ เดอร์มาโทโลยี) เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา บอกว่า นอกจากจะไม่มีกฎข้อบังคับอะไรอยู่เลยแล้ว หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการสักยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่รู้ กันว่ามีอันตรายหรือไม่ ถ้ามี มีอันตรายมากมายแค่ไหนกันอีกด้วย

ดังนั้น นอกจากลูกค้าผู้บริโภค การสัก ควรต้องรู้ตัวว่าการสักมีความเสี่ยงอยู่ในตัวแล้วก็ควรแจ้ง ให้เป็นที่รับรู้กันหากเกิดผิดปกติขึ้่นมา ทั้งต่อตัวผู้สัก และไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ดร.ชิโนฮาราบอกว่า หมึกที่ใช้สักกันนั้นพัฒนาไปเรื่อยๆ ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเป็นหมึกที่ผสมสีย้อมชนิดหนึ่งซึ่งมีเม็ดสีที่มีองค์ประกอบพื้นฐานเป็นพลาสติก ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์, สิ่งทอ และสีพ่นรถยนต์ จนกระทั่งถึงขณะนี้ยังมีหลายอย่างมากที่แพทย์ผิวหนังเองก็ยังไม่รู้ว่า หมึกสำหรับสัก ดังกล่าวนี้มีปฏิกิริยากับผิวหนังไปในทางใดบ้าง

ปัญหาที่เกิดบ่อยที่สุดก็คือ อาการแพ้สีที่สัก อย่างไรก็ตาม ดร.ชิโนฮารา ยืนยันว่า ผู้รับบริการสักอาจเกิดอาการติดเชื้อได้ง่ายซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างการสักหรือหลังสักไม่นานแล้ว ยังเคยมีรายงานด้วยว่า มีผู้ติดเชื้อ ซิฟิลิส และ เชื้อโรคตับอักเสบ บี และ ซี จากการสักมาแล้ว เพราะการสักทำไปโดยไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยที่ดีพอ

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้สักอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ในทางหนึ่งเป็นเพราะรอยสักทำให้การตรวจสอบพบพัฒนาการของโรคได้ยากมากขึ้นโดยเฉพาะมะเร็งผิวหนังที่เกี่ยวเนื่องกับไฝ ดังนั้น ดร.ชิโนฮารา จึงเรียกร้องว่า อย่าได้เพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองด้วยการสักในบริเวณที่เป็นไฝอยู่แล้วเป็นอันขาด นอกจากนั้น บริเวณที่สักอาจก่อให้เกิดไตแข็งขึ้นและอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่า สคอวมัน เซลล์ คาร์ซิโนมา ได้ไตแข็งที่เกิดขึ้นยังยากต่อการแยกแยะ หรือวินิจฉัยเมื่อเกิดในรอยสัก ทำให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่ายกว่า นำไปสู่การรักษาที่สิ้นเปลืองสูงโดยไม่จำเป็นอย่างเช่นบางรายอาจถึงกับต้องผ่าตัดเลยก็มี

ถ้าหากยังต้องการเสี่ยงเพราะอยากสวยด้วยรอยสักต่อไป ดร.ชิโนฮารา แนะนำว่า ควรเลือกสถานที่สักและศิลปินรอยสักที่มีใบอนุญาต หรือผ่านการตรวจสอบอยู่บ้าง และต้องยืนกรานขออุปกรณ์การสักใหม่ ในบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว หากมีปัญหาแพ้ขึ้นมาให้รีบแจ้งผู้สักทันทีและหากปัญหายังคงอยู่นานเกินสัปดาห์ หรือกว่านั้นควรพบแพทย์ทันที

ข้อสำคัญที่สุดคือ ผู้ที่มีอาการโรคผิวหนังเรื้อรัง อย่างเช่น โรคสะเก็ดเงิน (โซเรียซิส) โรคผื่นคันเรื้อรัง (เอ็คซีมา) หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นแผลเป็นถาวร หรือ คีลอยด์ ได้ง่าย ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจสัก

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33457

รู้ทันภัยพายุฤดูร้อน

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับพายุฤดูร้อน ว่ามันเป็นพายุที่เกิดขึ้นตามชื่อของมัน คือ มักจะเกิดในช่วงฤดูร้อน ราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน จนอาจถึงช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน ตามปกติแล้วพายุฤดูร้อนนั้น จะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน เมื่อมีความกดอากาศสูงพัดมาปะทะกับมวลอากาศร้อน หรือความกดอากาศต่ำ สิ่งนี้เองที่ส่งผลให้อากาศในบริเวณดังกล่าวเกิดการแปรปรวน

หลังจากนั้นจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องมาจากพายุฤดูร้อนจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก รวมทั้งมีลมพายุพัด มีฝนตกหนักฟ้าคะนอง และในบางครั้งก็มีลูกเห็บตกลงมาด้วย

สัญญาณที่จะบ่งบอกว่าพายุฤดูร้อนกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว คือ สภาพอากาศในช่วงนั้นจะร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายๆ วัน มีความชื้นในอากาศสูงจนรู้สึกเหนียวตัว ลมค่อนข้างสงบ ท้องฟ้าขมุกขมัว และมีเมฆมาก เมฆจะสูง และมีสีเทาเข้ม ต่อมาลมจะพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก่อนที่เมฆจะก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว จนเกิดฟ้าแลบ และฝนฟ้าคะนองในระยะไกล สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองตามมา

 

อาจจะมีทั้งลม ทั้งฝน ทั้งฟ้าร้อง ฟ้าแลบ หรือลูกเห็บกระหน่ำอย่างหนัก แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งความรุนแรงมักจะกินเวลาไม่นานราว 1 – 2 ชั่วโมง และกินพื้นที่ไม่กว้างนัก คือ ประมาณ 10 – 20 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงน้อยกว่าภาคอื่นๆ คือ ภาคใต้

ภาคใต้ที่ต้องระวัง คือ คลื่นลมในทะเล โดยเฉพาะ 1-2 วันนี้ คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยตอนล่างจะสูงได้ถึง 3 เมตร ชาวเรือต้องเดินเรือด้วยความระวัง กลับมาที่พายุฤดูร้อน ซึ่งเมื่อรู้ที่มาที่ไปของมันแล้ว ไปดูวิธีรับมือและวิธีปฏิบัติตน เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยเป็นคำแนะนำจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

โดยก่อนเกิดภัย ตรวจสอบสภาพบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเพิ่มที่ค้ำยันยึดติดประตู หน้าต่างและหลังคาบ้านเรือน เพราะหากเกิดพายุพัดอย่างรุนแรง จะทำให้หลังคาบ้านได้รับความเสียหาย สำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้าน ตัดแต่งกิ่งไม้ หากพบต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง เช่น โคนรากลอย ไม่ยึดติดหน้าดิน ต้นไม้ที่มีอายุมาก และอยู่ในสภาพยืนต้นตาย เป็นต้น ให้จัดการโค่นทิ้ง เพราะเมื่อโดนพายุจะหักโค่นได้ง่าย จึงเสี่ยงต่อการล้มทับบ้านเรือน

นอกจากนี้ควรร่วมเป็นหูเป็นตา หากพบป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ หรือริมข้างถนนอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย เสาไฟฟ้าใกล้ล้ม สายไฟฟ้าขาดพาดกิ่งไม้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขต่อไป ตลอดจนหมั่นติดตามสภาวะอากาศและคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากมีประกาศเตือนภัยพายุฤดูร้อน ให้รีบจัดเก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา และสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด

ขณะเกิดภัยให้เข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหายและสิ่งของปลิวเข้ามากระแทก หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะนอกจากจะได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอีกด้วย ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่น เงิน ทองคำ ทองแดง

ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงห้ามประกอบกิจกรรมทุกประเภทในที่โล่งแจ้ง เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า

กรณีพบเสาไฟฟ้าล้มทับหรือสายไฟฟ้าขาด ห้ามเข้าใกล้เสาไฟฟ้า ห้ามสัมผัสหรือใช้ไม้เขี่ยสายไฟฟ้าเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไขโดยด่วนต่อไป

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33463

จอดรถข้างถนน อันตรายที่ถูกมองข้าม

บ่อยครั้งที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการจอดรถริมทางกีดขวางเส้นทางจราจร โดยผู้ขับขี่มักไม่เปิดสัญญาณไฟรถ จนผู้ที่ขับรถตามหลังมาต้องเปลี่ยนช่องทางเดินรถกะทันหัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการจอดรถริมข้างทาง โดยเฉพาะบริเวณทางขึ้น-ลงสะพาน ถนนที่มีไหล่ทางแคบหรือมีลักษณะเป็นคอขวด ทางแยก ทางม้าลาย และปากซอยทางเข้า-ออกอย่างเด็ดขาด

2. การจอดแวะซื้อของริมข้างทาง ผู้ขับขี่ควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมาเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน หรือจอดซื้อของในจุดที่มีที่จอดรถไว้เท่านั้น

3. กรณีรถจอดเสีย ประสบอุบัติเหตุหรือจำเป็นต้องจอดรถริมข้างทาง ควรจอดรถให้ชิดไหล่ทางมากที่สุด พร้อมเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน และนำป้ายเตือนหรือวัสดุอื่นๆ เช่น กรวยสามเหลี่ยม กิ่งไม้ หรือผ้าที่มีลักษณะสะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลัง ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน และเพิ่มความระมัดระวัง ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

4. กรณีผู้ขับขี่มีอาการง่วงนอน ให้นำรถไปจอดพักหลับในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถริมทาง เพื่อล้างหน้าและพักหลับ หรือผลัดเปลี่ยนผู้ขับขี่ยานพาหนะ ไม่ควรจอดรถพักหลับริมทางอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง และหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

5. หลีกเลี่ยงการจอดรถถ่ายภาพ หรือชมวิวทิวทัศน์ข้างทางตามแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะตามเส้นทางขึ้น-ลงเขา เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ควรจอดรถชมวิวหรือถ่ายภาพบริเวณจุดชมวิวเท่านั้น

สำหรับประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางหรือรถรับจ้างส่วนบุคคลสาธารณะ ควรรอรถในบริเวณป้ายหยุดรถประจำทางหรือจุดบริการจอดรถรับส่งผู้โดยสารเท่านั้น เพราะการเรียกรถนอกจุดจอดรับ-ส่งดังกล่าว จะทำให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถกะทันหัน อาจทำให้รถคันหลังหยุดรถไม่ทันจนเกิดอุบัติเหตุรถชนท้ายได้

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33484

ร้อนนี้ น้ำแข็งมาแรง!

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ว่า การผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายที่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้รับประทานนั้น จะต้องใช้น้ำสะอาดและได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง ดังต่อไปนี้

1.คุณสมบัติทางฟิสิกส์ น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่จะไม่รวมถึงกลิ่นคลอรีน ความขุ่นจะต้องไม่เกิน 5.0 ซิลิกาสเกล และค่าความเป็นกรด-ด่างต้องอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.5

2.คุณสมบัติทางเคมี น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องมีคุณสมบัติทางเคมี เช่น ปริมาณสารทั้งหมดไม่เกิน 500.0 มิลลิกรัมต่อ น้ำสะอาด 1 ลิตร ความกระด้างทั้งหมด โดยคำนวณเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตไม่เกิน 100.0 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร แคดเมียมไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร และเหล็กไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร เป็นต้น

3.คุณสมบัติเกี่ยวกับจุลินทรีย์ น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องไม่มีบักเตรีชนิด อี.โคไล ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และตรวจพบบักเตรีชนิดโคลิฟอร์มน้อยกว่า 2.2 ต่อน้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร โดยวิธีเอ็มพีเอ็น (Most Probable Number)

ส่วนการเก็บรักษาและภาชนะบรรจุที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคน้ำแข็งมีรายละเอียดดังนี้

1.ในการเก็บรักษาน้ำแข็ง ห้ามมิให้ใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ หรือวัสดุอย่างอื่นในทำนองเดียวกันปกคลุมหรือห่อหุ้มน้ำแข็ง

2.สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็งเพื่อจำหน่าย หรือที่จำหน่ายน้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ใช้รับประทานจะต้องมีคุณสมบัติ สะอาดและมีระดับสูงกว่าทางเดินภายในบริเวณสถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง ทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นวัสดุพื้นผิวเรียบ รักษาความสะอาดได้ง่าย และต้องง่ายต่อการทำความสะอาด มีลักษณะปกปิดที่ป้องกันมิให้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกปนเปื้อนน้ำแข็งได้

3.ภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุน้ำแข็งเพื่อจำหน่าย หรือที่จำหน่ายน้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ใช้รับประทานต้องมีคุณสมบัติ ภาชนะต้องสะอาด ไม่มีโลหะหนักหรือสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับ น้ำแข็งในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ต้องไม่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นวัสดุพื้นผิวเรียบ รักษาความสะอาดได้ง่าย ต้องง่ายต่อ การทำความสะอาด และมีลักษณะปกปิดป้องกันมิให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกมาปนเปื้อนน้ำแข็งได้ ต้องไม่เคยบรรจุผลิตภัณฑ์อื่นนอกจากน้ำแข็ง และไม่มีรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใดที่แสดงว่าเป็นภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุสิ่งของอื่น และภาชนะบรรจุพลาสติกที่เป็นแผ่นหรือถุงจะต้องไม่มีสี หรือไม่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้ว ยกเว้นชั้นที่ไม่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร

สำหรับผู้บริโภค น้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุงให้สังเกตรายละเอียดบนฉลากซึ่งต้องมีข้อความภาษาไทย (มีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้) และจะต้องมีข้อความแสดงชื่ออาหาร (ถ้ามี) เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. เช่น ข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต และน้ำหนักสุทธิเป็นระบบเมตริกซ์ ส่วนน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งจำหน่ายตามร้านค้าหรือร้านอาหาร เป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดยไม่ต้องมีฉลาก เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคควรสังเกตน้ำแข็ง สถานที่เก็บ ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาดไม่มีการปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซองควรซื้อมาทั้งก้อน นำมาล้างน้ำให้สะอาดก่อนทุบหรือบดแล้ว ใส่ไว้ในภาชนะบรรจุที่สะอาดด้วย

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33464