ร้อนนี้ น้ำแข็งมาแรง!

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ว่า การผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายที่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้รับประทานนั้น จะต้องใช้น้ำสะอาดและได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง ดังต่อไปนี้

1.คุณสมบัติทางฟิสิกส์ น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่จะไม่รวมถึงกลิ่นคลอรีน ความขุ่นจะต้องไม่เกิน 5.0 ซิลิกาสเกล และค่าความเป็นกรด-ด่างต้องอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.5

2.คุณสมบัติทางเคมี น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องมีคุณสมบัติทางเคมี เช่น ปริมาณสารทั้งหมดไม่เกิน 500.0 มิลลิกรัมต่อ น้ำสะอาด 1 ลิตร ความกระด้างทั้งหมด โดยคำนวณเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตไม่เกิน 100.0 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร แคดเมียมไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร และเหล็กไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร เป็นต้น

3.คุณสมบัติเกี่ยวกับจุลินทรีย์ น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องไม่มีบักเตรีชนิด อี.โคไล ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และตรวจพบบักเตรีชนิดโคลิฟอร์มน้อยกว่า 2.2 ต่อน้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร โดยวิธีเอ็มพีเอ็น (Most Probable Number)

ส่วนการเก็บรักษาและภาชนะบรรจุที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคน้ำแข็งมีรายละเอียดดังนี้

1.ในการเก็บรักษาน้ำแข็ง ห้ามมิให้ใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ หรือวัสดุอย่างอื่นในทำนองเดียวกันปกคลุมหรือห่อหุ้มน้ำแข็ง

2.สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็งเพื่อจำหน่าย หรือที่จำหน่ายน้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ใช้รับประทานจะต้องมีคุณสมบัติ สะอาดและมีระดับสูงกว่าทางเดินภายในบริเวณสถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง ทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นวัสดุพื้นผิวเรียบ รักษาความสะอาดได้ง่าย และต้องง่ายต่อการทำความสะอาด มีลักษณะปกปิดที่ป้องกันมิให้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกปนเปื้อนน้ำแข็งได้

3.ภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุน้ำแข็งเพื่อจำหน่าย หรือที่จำหน่ายน้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ใช้รับประทานต้องมีคุณสมบัติ ภาชนะต้องสะอาด ไม่มีโลหะหนักหรือสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับ น้ำแข็งในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ต้องไม่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นวัสดุพื้นผิวเรียบ รักษาความสะอาดได้ง่าย ต้องง่ายต่อ การทำความสะอาด และมีลักษณะปกปิดป้องกันมิให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกมาปนเปื้อนน้ำแข็งได้ ต้องไม่เคยบรรจุผลิตภัณฑ์อื่นนอกจากน้ำแข็ง และไม่มีรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใดที่แสดงว่าเป็นภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุสิ่งของอื่น และภาชนะบรรจุพลาสติกที่เป็นแผ่นหรือถุงจะต้องไม่มีสี หรือไม่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้ว ยกเว้นชั้นที่ไม่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร

สำหรับผู้บริโภค น้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุงให้สังเกตรายละเอียดบนฉลากซึ่งต้องมีข้อความภาษาไทย (มีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้) และจะต้องมีข้อความแสดงชื่ออาหาร (ถ้ามี) เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย. เช่น ข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต และน้ำหนักสุทธิเป็นระบบเมตริกซ์ ส่วนน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งจำหน่ายตามร้านค้าหรือร้านอาหาร เป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดยไม่ต้องมีฉลาก เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคควรสังเกตน้ำแข็ง สถานที่เก็บ ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาดไม่มีการปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซองควรซื้อมาทั้งก้อน นำมาล้างน้ำให้สะอาดก่อนทุบหรือบดแล้ว ใส่ไว้ในภาชนะบรรจุที่สะอาดด้วย

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33464

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>