รู้ทันภัยพายุฤดูร้อน

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับพายุฤดูร้อน ว่ามันเป็นพายุที่เกิดขึ้นตามชื่อของมัน คือ มักจะเกิดในช่วงฤดูร้อน ราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน จนอาจถึงช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน ตามปกติแล้วพายุฤดูร้อนนั้น จะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน เมื่อมีความกดอากาศสูงพัดมาปะทะกับมวลอากาศร้อน หรือความกดอากาศต่ำ สิ่งนี้เองที่ส่งผลให้อากาศในบริเวณดังกล่าวเกิดการแปรปรวน

หลังจากนั้นจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องมาจากพายุฤดูร้อนจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก รวมทั้งมีลมพายุพัด มีฝนตกหนักฟ้าคะนอง และในบางครั้งก็มีลูกเห็บตกลงมาด้วย

สัญญาณที่จะบ่งบอกว่าพายุฤดูร้อนกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว คือ สภาพอากาศในช่วงนั้นจะร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายๆ วัน มีความชื้นในอากาศสูงจนรู้สึกเหนียวตัว ลมค่อนข้างสงบ ท้องฟ้าขมุกขมัว และมีเมฆมาก เมฆจะสูง และมีสีเทาเข้ม ต่อมาลมจะพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก่อนที่เมฆจะก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว จนเกิดฟ้าแลบ และฝนฟ้าคะนองในระยะไกล สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองตามมา

 

อาจจะมีทั้งลม ทั้งฝน ทั้งฟ้าร้อง ฟ้าแลบ หรือลูกเห็บกระหน่ำอย่างหนัก แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งความรุนแรงมักจะกินเวลาไม่นานราว 1 – 2 ชั่วโมง และกินพื้นที่ไม่กว้างนัก คือ ประมาณ 10 – 20 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงน้อยกว่าภาคอื่นๆ คือ ภาคใต้

ภาคใต้ที่ต้องระวัง คือ คลื่นลมในทะเล โดยเฉพาะ 1-2 วันนี้ คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยตอนล่างจะสูงได้ถึง 3 เมตร ชาวเรือต้องเดินเรือด้วยความระวัง กลับมาที่พายุฤดูร้อน ซึ่งเมื่อรู้ที่มาที่ไปของมันแล้ว ไปดูวิธีรับมือและวิธีปฏิบัติตน เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยเป็นคำแนะนำจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

โดยก่อนเกิดภัย ตรวจสอบสภาพบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเพิ่มที่ค้ำยันยึดติดประตู หน้าต่างและหลังคาบ้านเรือน เพราะหากเกิดพายุพัดอย่างรุนแรง จะทำให้หลังคาบ้านได้รับความเสียหาย สำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้าน ตัดแต่งกิ่งไม้ หากพบต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง เช่น โคนรากลอย ไม่ยึดติดหน้าดิน ต้นไม้ที่มีอายุมาก และอยู่ในสภาพยืนต้นตาย เป็นต้น ให้จัดการโค่นทิ้ง เพราะเมื่อโดนพายุจะหักโค่นได้ง่าย จึงเสี่ยงต่อการล้มทับบ้านเรือน

นอกจากนี้ควรร่วมเป็นหูเป็นตา หากพบป้ายโฆษณา สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ หรือริมข้างถนนอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย เสาไฟฟ้าใกล้ล้ม สายไฟฟ้าขาดพาดกิ่งไม้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขต่อไป ตลอดจนหมั่นติดตามสภาวะอากาศและคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากมีประกาศเตือนภัยพายุฤดูร้อน ให้รีบจัดเก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา และสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด

ขณะเกิดภัยให้เข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหายและสิ่งของปลิวเข้ามากระแทก หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะนอกจากจะได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอีกด้วย ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่น เงิน ทองคำ ทองแดง

ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงห้ามประกอบกิจกรรมทุกประเภทในที่โล่งแจ้ง เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า

กรณีพบเสาไฟฟ้าล้มทับหรือสายไฟฟ้าขาด ห้ามเข้าใกล้เสาไฟฟ้า ห้ามสัมผัสหรือใช้ไม้เขี่ยสายไฟฟ้าเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไขโดยด่วนต่อไป

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33463

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>