ภัยร้ายซุกซ่อนใต้ไฝดำ

จุดดำเม็ดเล็กๆ บนผิวหนัง ที่เรียกกันว่าไฝหรือขี้แมลงวันนั้น อาจซ่อนโรคร้ายไว้ข้างใต้ หากไม่สังเกตและรักษาให้ทันท่วงที

โรคร้ายภายใต้ผิวก็คือ มะเร็งผิวหนัง ที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยชนิดของมะเร็งผิวหนังที่มีความรุนแรงมากที่สุด และสามารถกระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ได้รวดเร็วคือ มะเร็งของเซลล์เม็ดสี ที่เรียกว่า แมลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant Melanoma) หรือชนิดไฝดำ

ผศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ไฝร้ายมักจะไม่ปรากฎรอยออกมาด้านนอก แต่จะเป็นการทำลายเซลล์ผิวลึกลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังทั้งไฝและขี้แมลงวัน

“มะเร็งผิวหนังเป็นโรคมะเร็งที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับมะเร็งชนิดอื่นๆ และมีการพัฒนาแนวทางการรักษาช้าที่สุด” แพทย์กล่าว

ไฝปกติทั่วไปจะกลม ขอบเรียบ ขณะที่อาการบ่งชี้มะเร็งไฝดำที่ควรจะสังเกตคือ ลักษณะไฝไม่เป็นทรง ขอบไฝไม่ชัดเจน ขรุขระ ไม่เรียบ สีของไฝไม่สม่ำเสมอ มีทั้งสีดำ สีน้ำตาลหลายเฉดในคราวเดียว ขนาดจะใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร และไฝนั้นมีการแตกตัว

คุณหมอเตือนว่า หากพบความผิดปกติเหล่านี้แม้เพียง 1 อาการ ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์และรักษาให้หายขาดได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังคือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน หรือมีผิวขาว อายุ 50 ปีขึ้นไป

ลักษณะมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนั้นจะกินลึกในชั้นผิวหนังมากกว่าโตเป็นก้อนออกมา ยิ่งเป็นมากก็จะยิ่งกินลึกลงไปในผิวหนังมาก จนอาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ อย่างไรก็ตาม แม้มะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำจะพบมากบริเวณที่ถูกแสงแดดบ่อยๆ แต่ก็สามารถเกิดได้ในจุดซ่อนเร้น อาทิ ฝ่าเท้า หรือไหล่

ปัจจุบันอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำ หรือเมลาโนมาทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนคนต่อปี ซึ่ง 80% เป็นชาวยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำนี้ประมาณ 340 คนต่อปี

“ที่ผ่านมาแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง เริ่มจากหากเป็นในระยะเริ่มแรกก็จะใช้วิธีการผ่าตัดออกให้หมด ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดสูงถึง 70-80% แต่หากผู้ป่วยเป็นในระยะลุกลามแล้วจะมีการใช้รังสีรักษา หรือเคมีบำบัดร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร” ผศ.นพ.วิโรจน์เผย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการรักษาในอนาคตจะเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นคือ การตรวจคัดเลือกผู้ป่วยและใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งยาที่ได้รับจะสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งได้อย่างเจาะจง ช่วยยืดอายุผู้ป่วยให้ยาวนานยิ่งขึ้น

คุณหมอแนะนำวิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอาบแดด หรือใช้เครื่องอบผิวให้เป็นสีแทน และหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน หากมีแผลเรื้อรังหรือแผลที่ไม่หายใน 2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์

ยีนกลายพันธุ์ก่อมะเร็ง

ศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำหรือเมลาโนมาในระยะลุกลาม ตามแนวทางการรักษาเฉพาะบุคคลนั้น จะต้องตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ในก้อนมะเร็ง

ยีน BRAF มีหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ เจริญเติบโต เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับยีนนี้ ผลที่ตามมาก็คือเซลล์มีการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติ และนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ในที่สุด ทั้งนี้ จากรายงานการวิจัยพบว่า มากกว่า 50% ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดไฝดำมีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF ซึ่งจะเกิดที่ตำแหน่ง V600 ของยีน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF เท่านั้นที่จะมีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจง ในการหยุดยั้งการทำงานที่ผิดปกติของยีน BRAF

สำหรับการตรวจหาการกลายพันธุ์นี้ แพทย์จะใช้เทคโนโลยี PCR ที่มีความไวในการตรวจพบที่สูง และให้ผลการตรวจในเวลาที่รวดเร็ว ช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วย เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33433

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>