วิธีป้องกัน-ดูแลรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง

กลายเป็นโรคที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับผู้คนไปแล้ว สำหรับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลังจากที่มีดารา – คนดังบางคน เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ แต่แค่กลัว ไม่เพียงพอต่อการป้องกันและรักษา เพราะความรู้เท่านั้นที่จะทำให้เราเท่าทันโรคภัยไข้เจ็บ

 

พล.ต.ญ.ศ.คลินิก จิตถนอม สุวรรณเตมีย์ ที่ปรึกษาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สาเหตุของกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ มัยแอสทีเนีย กราวิส (MG, Myasthenia Gravis) มักจะพบในผู้หญิงวัยประมาณ 30 ปีขึ้นไป และผู้ชายจะอยู่ในช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป

“อาการหลักๆ คือ หนังตาตก มองเห็นภาพซ้อน เคี้ยวอาหารลำบาก พูดไม่ค่อยชัด หรือพูดเหมือนเสียงขึ้นจมูก บางรายอาจจะมีหน้าเบี้ยวนิดหน่อย กลืนอาหารลำบาก อ่อนแรงได้ง่าย เมื่อยล้าได้เร็ว แต่อาการเหล่านี้จะเป็นพักๆ เช่น ตอนเช้าดูมีแรงดี แต่ตกบ่าย เริ่มไม่มีแรงแล้ว และถ้าหากกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรงด้วย คนไข้ก็อาจจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก บางรายอาจจะหายใจล้มเหลวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นหนักๆ อาจจะทำให้เสียชีวิตได้” พล.ต.ญ.ศ.คลินิก จิตถนอม กล่าว

แต่ใครก็ตามที่เป็นแล้ว ปัจจุบันมีวิธีการรักษาดังนี้ คือ

1.การให้ยาต้านฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ทำให้สารอะซิติลโคลีนไม่ถูกทำลาย และการที่มีสารนี้อยู่นานขึ้น ก็สามารถจับกับตัวรับได้มากขึ้น ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

2.การให้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยให้อาการดีขึ้นหรืออาการหายขาดได้มากถึงร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด

3.การให้ยากดภูมิคุ้มกัน

4.การให้ยาอิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

5.การผ่าตัดต่อมไธมัส

6.การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา

7.การรักษาทางกายภาพบำบัดในการป้องกันปัญหาข้อติดและช่วยฝึกการหายใจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่เป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีปฏิบัติตนไว้ 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.โภชนาการ ควรจะเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบห้าหมู่ อย่ารับประทานของหวานมากเกินไป เพราะจะทำให้เป็นเบาหวานได้ และคนที่เป็นเบาหวาน ก็อาจจะทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้เช่นกัน

2.ออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ออกกำลังกายพอสมควร ไม่หักโหมมากเกินไป

3.ระวังตัวเอง ถ้าสงสัยว่ามีอะไรผิดปกติ ดีที่สุดก็คือการไปหาแพทย์ นั่นก็คือการป้องกันตัวเอง

แน่นอนว่า สำหรับคนที่เป็นแล้วและได้รับการรักษาเป็นที่เรียบร้อย พล.ต.ญ.ศ.คลินิก จิตถนอม ให้ความรู้ว่า สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม แต่ก็มีข้อที่พึงระวัง

“เมื่อเรารู้ว่าเรามีโรคนี้อยู่ เราอาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองว่า ทำอะไรๆ ได้ แต่อย่าหักโหมมากเกินไป และเวลาที่รักษาไปแล้ว อาจจะทำให้อาการของโรคสงบไปได้นานๆ ซึ่งก็ไม่ควรประมาท ควรรักษาสุขภาพอยู่เสมอ อย่าให้มีการเจ็บป่วยหรือมีการติดเชื้อ เพราะว่าถ้ามีอาการติดเชื้อหรือว่าร่างกายอ่อนแอ ก็ “อาจจะ” เป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมา” พล.ต.ญ.ศ.คลินิก จิตถนอม กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิงข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33473

เมื่อต้อง…ตรวจระดับการได้ยิน

โดยปกติแล้วระดับการได้ยินของคนปกติจะอยู่ระหว่าง -10 ถึง 25 เดซิเบล ผู้ที่มีระดับการได้ยินสูงกว่านี้ ถือว่ามีความผิดปกติของระดับการได้ยิน โดยแบ่งเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

ระดับการได้ยิน    ความผิดปกติ  (เดซิเบล)

       -10 ถึง 25 การได้ยินปกติ

       26 ถึง 40 หูตึงเล็กน้อย

       41 ถึง 55 หูตึงปานกลาง

       56 ถึง 70 หูตึงมาก

       70 ถึง 90 หูตึงอย่างรุนแรง

       มากกว่า 90 หูหนวก

สำหรับการทดสอบหาระดับการได้ยิน (Pure tone audiogram) จะตรวจผ่านสองทาง คือ การนำเสียงผ่านอากาศ (Air conduction) ทดสอบโดยการครอบหูฟัง และการนำเสียงผ่านกระดูก (Bone conduction) ทดสอบโดยการวางตัวปล่อยเสียงที่กระดูกกกหู (Mastoid) จากนั้นจะปล่อยเสียงความถี่เดียว (pure tone) ที่ระดับความดังต่างๆ แล้วลดระดับลงเรื่อยๆ จนถึงระดับความดังที่เบาที่สุดที่ผู้ถูกทดสอบได้ยิน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบระดับการได้ยินด้วยวิธีอื่นๆ อีก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

เมื่อได้รับผลการตรวจเบื้องต้น แพทย์จะนำผลที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีความสูญเสียการได้ยินประเภทใด ซึ่งโดยทั่วไปอาจแบ่งได้ดังนี้

1.สูญเสียการได้ยินเฉพาะการนำเสียงผ่านอากาศ (Conductive hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง แต่หูชั้นในและระบบประสาทการได้ยินยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล

2. สูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท (Sensorineural hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นในหรือระบบประสาทการได้ยิน พบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล โดยทั้งสองเส้นของระดับการได้ยินจะไม่ห่างกันเกิน 15 เดซิเบล

3. สูญเสียการได้ยินแบบผสม (Mixed hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของหูชั้นในและระบบประสาทการได้ยิน พบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล แต่ทั้งสองเส้นห่างกันมากกว่า 15 เดซิเบล แสดงว่าการนำเสียงผ่านอากาศแย่กว่าการนำเสียงผ่านกระดูก

ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการได้ยินประเภทใด จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ซึ่งบางครั้งอาจรักษาได้ด้วยยา หรือการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง รวมถึงได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย

ข้อมูลจาก ; http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33474

สารพิษในพริกขี้หนูป่น

อากาศเมืองไทยวันนี้ เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวเย็นจนชื้นแบบนี้ อาจทำให้อาหารหลายๆ ชนิดเปลี่ยนสภาพได้

ผู้บริโภคต้องหมั่นสังเกตอาหารที่ซื้อมาทุกครั้งด้วยว่า อาหารเปลี่ยนสภาพจากเดิมที่มีสีสันสดใสตามสีธรรมชาติของอาหารมาเป็นสีขาวมีลักษณะฟูๆ หรือเป็นจุดๆ สีดำหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนสภาพอย่างที่ว่า ให้หลีกเลี่ยงไม่ควรทาน ถ้ามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าให้สังเกตว่า จับตัวเป็นก้อนหรือไม่ เช่น พริกป่น ที่เป็นเครื่องปรุงสำหรับก๋วยเตี๋ยวทุกชนิดนั้น ไม่ควรจับตัวเป็นก้อน

ร้านค้าบางร้าน จะแยกช้อนตักเครื่องปรุงไว้ชัดเจน แต่บางร้านไม่มี คนกินต้องเอาช้อนที่ตักน้ำส้ม พริกน้ำปลาไปตักพริกป่น อาจทำให้พริกป่นเกิดความชื้นได้ เมื่อเกิดความชื้น อาจทำให้เกิดเชื้อราและผลิตสารพิษที่เรียกว่า โอคราท็อกซิน เอ ในพริกป่นได้

สารพิษโอคราท็อกซิน เอ มักพบปนเปื้อนในเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต เมล็ดกาแฟ เมล็ดโกโก้และถั่วเมล็ดแห้งชนิดต่างๆ

หากผู้บริโภคทานไปทั้งๆ ที่พริกป่นเปลี่ยนสภาพ เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเสียดาย เขี่ยๆ อันที่ไม่เป็นเชื้อราออกก็อาจทำให้ร่างกายได้รับอันตรายจากสารพิษชนิดนี้ได้ สารพิษชนิดนี้จะเข้าไปสะสมในร่างกายของเรา หากสะสมนานๆ เข้าจะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ

ถึงตอนนี้แล้ว คนที่ชอบบริโภคอาหารที่ต้องปรุงด้วยความเผ็ดจากพริกป่น ต้องระมัดระวังตัวให้มากกว่าเดิมสักนิด เพราะวันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างพริกขี้หนูป่นจากร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษ โอคราท็อกซิน เอ พบว่าทุกตัวอย่างมีสารพิษโอคราท็อกซิน เอ ปนเปื้อน และมี 1 ตัวอย่างที่พบปนเปื้อนเกินมาตรฐานของอียู ที่อนุญาตให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33492

เทคนิคสยบจุลินทรีย์ในอาหาร

หน้าร้อนของทุกๆปี กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ มักเตือนให้ระวังโรคภัยที่มากับอาหาร ศุกร์นี้ มุมสุขภาพขอแนะนำเทคนิคดีๆ ในการลดและควบคุมปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ก่อเกิดโรคที่มาจากอาหารกันค่ะ หากคุณแม่บ้านรู้เทคนิคเหล่านี้ จะช่วยให้การเตรียมอาหารปลอดภัย ยืดอายุของอาหารไปได้อีกนะคะ

ก่อนที่เราจะควบคุมจุลินทรีย์ตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรคนั้น มารู้จักแบบคร่าวๆ ก่อนว่า จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีอยู่ทุกๆที่ ทั้งอยู่ในธรรมชาติ ในน้ำ ในอากาศและในดิน มีทั้งประเภทที่ดี ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อม และระบบขับถ่ายภายในร่างกาย และยังมีจุลินทรีย์ตัวร้าย ที่ทำให้เกิดโรคมากมายในคน, สัตว์, พืช โดยจุลินทรีย์แบ่งออกได้หลายกลุ่ม เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยีสต์ เชื้อรา สำหรับตัวที่สร้างปัญหาให้กับร่างกายเราก็คือ จุลินทรีย์ตัวร้าย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด หลายสายพันธุ์

ธรรมชาติของจุลินทรีย์ที่เราอาจไม่เคยรู้ คือ จุลินทรีย์มีความสามารถในการขยายพันธุ์แบบทวีคูณจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ไปเรื่อยๆ หากเริ่มจาก 100 ตัว ก็จะขยายพันธุ์แบบทวีคูณจาก 100 ×100 เป็น 10,000 ตัว โดยใช้เวลาเพียง 4-6 ชั่วโมง ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติมโตและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ก็คือ อุณหภูมิที่เหมาะสม อาหาร น้ำ ก๊าส ความชื้น เป็นต้น ดังนั้นอย่าแปลกใจ ทำไมบางครั้งเราตั้งอาหารไว้ไม่ทันข้ามวันหรือไม่กี่ชั่วโมง อาหารนั้นก็บูดเน่าเสียไปแล้ว

ที่มาของจุลินทรีย์ในอาหาร มีอยู่ด้วยกัน 2 ทาง โดยทางแรก “จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหารอยู่แล้ว” ซึ่งอาจมาได้จากหลายทาง เช่น การปรุง การแปรรูปที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ใช้วัตถุดิบที่ไม่สะอาด อุปกรณ์และภาชนะที่ไม่สะอาด รวมไปถึงการใช้อุณหภูมิในการฆ่าเชื้อที่ไม่เพียงพอ ยิ่งถ้าเราเก็บรักษาอาหารไม่ดี เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม (ในช่วง 25–40 องศาเซลเซียส เป็นช่วงจุลินทรีย์ก่อใหเกิดโรคเจริญได้ดี) ก็จะทำให้มีการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้อาหารบูดเน่าเสียได้

และอีกทาง “จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนลงในอาหาร” เช่น มือที่ไม่สะอาด ภาชนะบรรจุที่ไม่สะอาด สิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด จะทำให้อาหารนั้นมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ลงไปได้อีก

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เรามารับรู้เทคนิคลดและควบคุมปริมาณจุลินทรีย์เพื่อลดโรคกันดีกว่าค่ะ

-ทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เป็นวิธีที่ดีในการลดความเสี่ยง เพราะอุณหภูมิที่สูงในการปรุง จะช่วยลดและกำจัดจุลินทรีย์ได้ค่ะ อุณหภูมิที่สามารถฆ่าจุลินทรีย์ก่อเกิดโรคได้ ควรมากกว่า 80 องศานะคะ

-อุ่นอาหารก่อนรับประทาน วิธีนี้จำเป็นอย่างยิ่งกับอาหารที่ปรุงและถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานนะคะ หลายต่อหลายคนอาจเคยท้องเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ แท้ที่จริงเพียงเพราะทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ในปริมาณสูงใกล้จะเสีย แต่ยังไม่แสดงให้เห็นความเสื่อมเสีย เช่น มีเมือก หรือ ส่งกลิ่นบูด กลิ่นเปรี้ยว

-ล้างมือทุกครั้งก่อนการทานอาหารหรือปรุงอาหาร เพื่อกำจัดจุลินทรีย์ที่ติดตามมือ เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นนะคะว่า จุลินทรีย์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะเงิน! การไม่ล้างมือจึงเป็นความประมาทที่ร้ายแรงและทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่รู้ตัวนะคะ

-เก็บเข้าตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง หากยังไม่ทาน เทคนิคนี้ก็สำคัญมากนะคะ เพราะอุณหภูมิในตู้เย็น 4–6 องศาเซลเซียสนั้น สามารถลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้มาก ยิ่งถ้าอาหารต้องการเก็บรักษาไว้นานโดยการแช่แข็ง อัตราการเจริญเติบโตแทบเป็นศูนย์ แต่อย่าประมาทไป เพราะการแช่เย็นหรือแช่เยือกแข็ง ไม่สามารถฆ่าหรือกำจัดจุลินทรีย์ได้คะ เป็นเพียงการชะลอการเจริญและเพิ่มจำนวนเท่านั้น ดังนั้นหากนำออกมาแล้ว ก็ควรมีการอุ่นก่อนทานด้วย ทั้งนี้ก่อนเก็บก็ควรบรรจุในภาชนะที่สะอาดและปิดให้มิดชิดด้วยนะคะ หากเป็นอาหารที่ตักทานไปแล้วบางส่วน หากจะเก็บ จำเป็นต้องอุ่นให้ร้อนก่อนเก็บ ไม่เช่นนั้นออกจากตู้เย็นอีกที อาหารอาจเสียได้ค่ะ

-ดมกลิ่น สังเกต หรือลองชิมก่อนการทาน กรณีที่ม่แน่ใจว่ากลิ่นหรือรสชาติเพี้ยนไปจริงหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็ไม่ควรเสี่ยงทานแล้วค่ะ เพราะจุลินทรีย์บางตัวสามารถสร้างสารพิษได้ โดยร่างกายเราก็ไม่สามารถดักจับได้ด้วยค่ะ

-อย่าเสี่ยงทานอาหารหมดอายุที่ยังอยู่ในสภาพดี เช่น ขนมปังหมดอายุ แต่ยังไม่มีราขึ้น การมองไม่เห็นเชื้อราขึ้นในอาหารนั้น ไม่ได้บ่งบอกว่ายังไม่อันตรายเสมอไป เพราะอย่างที่บอก จุลินทรีย์ส่วนใหญ่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

-ล้างก่อนทาน สำหรับอาหารที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุง เช่น อาหารสดทั้งหลาย อย่างผัก ผลไม้ การล้างให้สะอาดจะช่วยลดทั้งปริมาณจุลินทรีย์และสารเคมีที่ปะปนมากับผักผลไม้ได้ด้วยนะคะ

แค่เราทราบหลักง่ายเบื้องต้นเพียงเท่านี้ เราก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องเสีย ท้องร่วง จากโรคอาหารเป็นพิษกันได้แล้วค่ะ เพื่อตัวเองและคนที่เรารักนะคะ อย่าลืมประโยคที่คอยย้ำกันเสมอค่ะว่า You are what you eat เราจะท้องเสีย ท้องร่วง ก็เพราะเราไม่ใส่ใจ ทานไม่ระวัง และละเลยเทคนิคง่ายๆพวกนี้กันนี่แหละค่ะ

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33496

ปิดเทอมระวังเด็กถูกสุนัขบ้ากัด แนะใช้หลัก 5 ย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังพิธีเปิดการอบรมฟื้นฟูเวชปฏิบัติ สำหรับแพทย์ และบุคลากรทางสาธารณสุข ณ จังหวัดสงขลา ว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยมีอาการแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโลกนี้ ไม่ต่ำกว่า 55,000 รายต่อปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท

องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ประชาคมอาเซียนมีเป้าหมายร่วมกันจะกำจัดโรคนี้ ให้หมดไปจาก ASEAN ภายในปี ค.ศ.2020 หรือ พ.ศ.2563 สำหรับประเทศไทย มีผู้สัมผัสโรคได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนรายคิดเป็นความสูญเสียกว่า 1 พันล้านบาท แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี จากรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างปี พ.ศ.2551- 2555 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว 9, 24, 15, 8 และ 4 ตามลำดับ ในปี พ.ศ.2556 ตั้งแต่ต้นปี ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่ถูกสุนัขกัดและไปรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้านั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี (33.17%ของผู้มารับการฉีดวัคซีน) และมักโดนลูกสุนัขกัด ดังนั้นในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนนี้ ขอความร่วมมือผู้ปกครองระวังบุตรหลานอย่าเข้าใกล้สุนัขที่ตนเองไม่ได้เลี้ยง แม้จะเป็นลูกสุนัขที่น่ารักไม่ดุก็ตาม อย่าปล่อยให้เด็กอยู่กับสุนัขตามลำพัง เพราะหากสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาข่วน ขบ กัด แค่เพียงเป็นรอยแผลเป็นเล็กๆ ก็สามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ โรคนี้เป็นแล้วตาย ไม่มียารักษา แต่ถ้าถูกสุนัขกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน แล้วรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ และควรกักขังหรือติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน (ถ้าเป็นสุนัขบ้าจะตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ)

“เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย ได้แก่ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง กล่าวคืออย่าแหย่สุนัขให้โมโห อย่าเหยียบ ตัว หัว ขา หาง และอย่าทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบอาหาร หรือชามขณะที่สุนัขกินอาหารอยู่ และสุดท้ายอย่ายุ่งกับสุนัขที่ตัวไม่ได้เลี้ยง สำหรับสุนัขเลี้ยงต้องนำไปฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า สธ.มีนโยบายกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่งหมายถึงต้องไม่มีคนและสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นเพื่อลดการเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากผู้ถูกสุนัขกัดจะรีบมาพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนแล้ว แพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ต้องให้ความสำคัญในการซักประวัติโดยละเอียด เมื่อผู้ถูกกัดมาสถานพยาบาลแล้ว แพทย์ต้องให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

การอบรมครั้งนี้เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูความรู้แก่แพทย์โรงพยาบาลในเขตจังหวัดภาคใต้ ในการดูแลป้องกันรักษาผู้สัมผัสโรคให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากผู้ถูกสุนัขกัดให้จำเหตุการณ์ต่างๆ และตอบผู้ทำการซักประวัติโดยละเอียดเช่นกัน พร้อมกันนี้ต้องรีบติดตามค้นหาผู้สัมผัสโรคคนอื่นๆ มารับการฉีดวัคซีน ให้ครบโดยเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค 02-590-3333

ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/33502

วิธีดูแลสุขภาพให้พร้อมในทุกๆวัน

30 วิธี ถนอมสุขภาพ … กายและใจ 

 1. หายใจให้ทั่วท้อง
2. นวดแผนโบราณเพื่อล้างพิษ
3. ปิดมือถือ ในบางขณะ เพื่อเป็นอิสระ คิดอะไรได้เต็มที่
4. โนบราซะ ( ผู้ชาย ก็โนอันเดอร์แวร์แทนละกัลล์ )
5. กินอย่างมีสติ : ไม่กินจนฟุ้งเฟ้อ และกินจนเกินความจำเป็นไม่อื่มเกินและเคี้ยวช้า ๆ คำละ 50 ครั้ง
6. ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ดื่มน้ำช่วงเช้าหลังตื่นนอนก่อนแปรงฟันจะมีประโยชน์น้ำที่ผสมน้ำลายในปากจะเป็นตัวล้างลำไส้ได้ดีนัก
7. เตือนตัวเองให้ทานผลไม้วันละ 3 – 5 อย่าง หลากสี
8. อดบ้างก็ได้ การอดอาหารในช่วงสั้น ๆ แม้เพียงวันละมื้อจะช่วยให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมได้พักผ่ อน
9. อาบน้ำคลายเครียด
10. ขับถ่ายบอกสุขภาพ ปัสสาวะที่ดีต้องใส ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอน ถ้าเข้มต้องดื่มน้ำเพิ่ม อุนจิ ต้องนิ่ม สีเหลือง ลอยน้ำได้ ไม่เหม็น หากแข็งต้องเพิ่มผัก ผลไม้ และน้ำ
11. หวีผมบรรเทาปวด ในวันที่เครียด / ปวดหัวตุบๆ ลองแปรงผมด้วยหวีที่มีปุ่มตรงซี่แปรง
12. ยิ้มหน่อย ( ใครชอบเก็ก ไม่ยิ้ม ลองดูนะครับ)
13. มาหัวเราะกันเถอะ ทั้งยิ้มและหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดระดับความเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน
14. น้ำตาคลายเครียด และช่วยระบายความเครียดได้ (แอบร้องก็ได้ถ้าอาย แต่จริงแล้ว ร้องไห้เป็นเรื่องปกติมนุษย์)
15. เซ็กซ์คือยาวิเศษ
16.นอนหลับเพิ่มพลัง เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟู ตอนนอนร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และ ระบายท็อกซินออกจากสมอง
17. สักงีบหนึ่ง หลับกลางวัน สัก 15 นาที
18. เดินเท้าเปล่ากันบ้าง ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสานสัมผัสกล้ามเนื้อ กระดูก และสมอง เดินเท้าเปล่า รับน้ำค้างบริสุทธ์ สนามหญ้า ย่ำก้อน กรวดบ้าง
19. กอด ยาวิเศษประจำบ้าน กอดคนที่คุณรักจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางช่วยปลดปล่อยความเครียด
20. ช่างคุย กับเพื่อนสนิท คนรู้ใจ
21. ร้องเพลง ขณะร้องร่างกายจะขับคาร์บอนไดออกไซด์ และสูดออกซิเจนได้มากขึ้น
22. ไดอารี่ที่รัก เขียนบันทึกช่วยระบายความในใจ และ ได้ทบทวนชีวิตรู้จักและปรับปรุงตัวเองได้
23. Out Door Please!! ออกใช้ชีวิตกลางแจ้งบ้าง
24. ฝึกสมองทุกวัน อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ทำให้สมองทำงานมากกว่า 80 % ขณะที่ดูโทรทัศน์ใช้สมอง 20 % อย่าลืมอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 15 นาที
25. สงบใจไหว้พระ
26. ชวนกันมาดูดาว
27. ความสุขจากรูปเก่า … เก่า ….
28. ให้เพื่อได้รับเศษสตางค์ ลองหยอดตู้บริจาคแบ่งสิ่งของให้คนที่ยากจนกว่าเรา ฯลฯช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสุข
29. ชมคนอื่นเสียบ้าง
30. พูดขอบคุณให้ติดปาก และขอบคุณจากใจจริงร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินทำให้มีความสุข

ข้อมูลจาก : http://www.classifiedthai.com/content.php?article=6818